ITU-T สหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ
ITU คืออะไร?
ITU เป็นคำย่อมาจากคำว่า International Telecommunication Union หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า “สหภาพโทรคมนาคม”
ITU ก่อตั้งมานานมากตั้งแต่สมัยโทรเลข (ชื่อเดิมคือ International Telegraph Union) คือตั้งแต่ปี 1865 หรือนับมาถึงวันนี้ก็เกือบ 150 ปีแล้ว ตั้งแต่ก่อนมีสหประชาชาติด้วยซ้ำ โดยรูปแบบองค์กรก็วิวัฒนาการมาตามกาลเวลา โดยเปลี่ยนชื่อเป็น International Telecommunication Union ในปี 1932 เพื่อขยายภารกิจขององค์กรให้ครอบคลุมโทรศัพท์ด้วย และภายหลังก็เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหประชาชาติในปี 1947
ITU มีสมาชิกเป็น "ประเทศ" จำนวน 193 ประเทศ เท่ากับประเทศที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ และเปิดรับสมาชิกแบบองค์กรภาคเอกชน สมาคม และหน่วยงานการศึกษาด้วย สำนักงานใหญ่ของ ITU อยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีสำนักงานระดับภูมิภาคอีก 12 แห่งทั่วโลก
ปัจจุบันขอบเขตงานของ ITU ขยายจากโทรเลขและโทรศัพท์ มาเป็นการสื่อสารผ่านดาวเทียม มือถือ อินเทอร์เน็ต การสื่อสารในช่วงภัยพิบัติ และการใช้งานไอซีทีโดยทั่วไปอีกด้วย
ITU แบ่ง "กลุ่มงาน" หรือ sector ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
1) กลุ่มงานสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ (Radiocommunication) หรือ ITU-R
รับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารด้วยคลื่นวิทยุ ทั้งการบริหารความถี่ของคลื่น และวงโคจรของดาวเทียม งานของกลุ่มนี้จะครอบคลุมถึงวิทยุสื่อสาร วิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ด้วย ใครที่ตามข่าวเรื่องทีวีความละเอียด 4K และ 8K ก็อาจจำกันได้ว่า ITU-R นี่แหละเป็นคนดูแลและอนุมัติมาตรฐานการแพร่ภาพของทีวีความละเอียดสูงมากเหล่านี้
รายละเอียดเพิ่มเติมดูจากเว็บไซต์ ITU-R
2) กลุ่มงานมาตรฐานโทรคมนาคม (Telecommunication Standardization) หรือ ITU-T
กลุ่มงานนี้ทำหน้าที่กำหนด "มาตรฐาน" (standard) ของวงการโทรคมนาคมแทบทุกเรื่อง เช่น อินเทอร์เน็ต โพรโตคอลการส่งข้อมูล กระบวนการบีบอัดเสียงและวิดีโอ เป็นต้น และประเด็นเรื่อง ITR ก็อยู่ภายใต้การดูแลของ ITU-T นั่นเองครับ
มาตรฐานวงการไอทีหลายอย่างที่เราใช้กันทุกวันนี้ ก็เป็นผลงานการกำหนดมาตรฐานของ ITU-T (มาตรฐานส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานอื่น แล้วค่อยให้ ITU-T รับรอง) เช่น JPEG, H.262, H.263, H.264, 3G, LTE, WiMAX ถ้าเก่าหน่อยก็เป็นเรื่องของ ISDN, SIM card, PKI X.509, xDSL ประเภทต่างๆ เป็นต้น
ITU-T เป็นกลุ่มงานที่เก่าแก่ที่สุดของ ITU และตัว ITU เองก็ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เรื่องการกำหนดมาตรฐานโทรคมนาคมเป็นหลัก รายละเอียดดูจากเว็บ ITU-T
วิดีโอแสดงตัวอย่างมาตรฐานที่ออกโดย ITU-T และถูกใช้งานในชีวิตประจำวัน
3) กลุ่มงานด้านพัฒนา (Development) หรือ ITU-D
กลุ่มงานนี้เน้นงานเชิงสังคมเสียเยอะ เช่น ส่งเสริมการใช้งานไอซีทีในประเทศกำลังพัฒนา ช่วยประเทศต่างๆ พัฒนาแผนบรอดแบนด์ สนับสนุนการสื่อสารช่วงภัยพิบัติ ความปลอดภัยไซเบอร์ ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส การใช้เทคโนโลยีไอซีทีกับวงการสาธารณสุข เป็นต้น
ITU-D เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นหลังสุดคือปี 1992 รายละเอียดดูในเว็บ ITU-D
หน้าที่ของ ITU โดยสรุป
- เป็นหน่วยงานนานาชาติที่ทำหน้าที่ออกมาตรฐานด้านโทรคมนาคมและคลื่นความถี่
- ไม่สังกัดประเทศใดๆ แต่เป็นหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ
- ทำงานระดับ "ชาติต่อชาติ" คือสมาชิกต้องเป็น "ประเทศ" ด้วย
- ข้อตกลงของ ITU บางอย่างมีผลผูกพันกับประเทศสมาชิก ในฐานะ "สนธิสัญญา" (treaty)
แหล่่งที่มา
https://www.blognone.com/node/38344
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น